Open top menu
วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กรณีจับซีอีโอบริษัทใหญ่กลางป่า “ทุ่งใหญ่นเรศวร” พร้อมไรเฟิลล่าสัตว์ และของกลางเป็นซากสัตว์จำนวนมาก ชวนให้หลายคนนึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย อันเกี่ยวเนื่องกับผืนป่าดังกล่าว นั่นคือ เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์เบลล์ตกที่จังหวัดนครปฐม หรือบางครั้งเรียกว่า “กรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่” หรือกรณี “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ซึ่งกลายเป็นชนวนของการปฏิวัติ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 29 เมษายน 2516 เกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ยี่ห้อเบลล์ลำหนึ่งของกองทัพบก หมายเลข ทบ.6102 ตกที่เขตอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในที่เกิดเหตุมีผู้เสียชีวิต 6 คน มี เมตตา รุ่งรัตน์ ดาราหญิงชื่อดังในยุคนั้นโดยสารไปด้วย มีการพบซากสัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะเนื้อขากระทิงขนาดใหญ่ เนื้อใส่กล่องกระดาษหลายกล่อง ปืนล่าสัตว์หลายกระบอก วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยลงข่าวหน้า 1 เป็นกรอบเล็กว่า “ด่วน! เครื่องบินทหารตกที่ อ.บางเลน นครปฐม มีผู้เสียชีวิต 6 คน มี พ.ต.ฉนำ ยุวบำรุง พ.ต.ท.บัญญัติ ไทยภักดี ร.อ.อาวุธ และนายทหารตำรวจอีก 3 นาย มีผู้บาดเจ็บสาหัส 4 นาย คือ พ.ต.อ.อมร ยุกตะนันต์ พ.ท.จำนง รอดเจริญ นายอนุสรณ์ ยุกตะนันต์ และนายแพทย์ยศจ่านายสิบโทอีก 1 ราย สาเหตุยังไม่ทราบแน่นอน”

ในขณะที่ข่าวในหนังสือพิมพ์สยามรัฐได้รายงานว่าผู้เสียชีวิตมี พ.ต.ไฉน พุกบุญมี ร.อ.อาวุธ อำพันวงศ์ พ.ต.ท. บัญญัติ ไทยภักดี ส่วนผู้บาดเจ็บมี พ.ท.จำนง รอดเจริญ จ.ส.ท.สมรชัย สุขมาก และสองพ่อลูกตระกูลยุกตะนันต์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีภาพถ่ายของเครื่องบินลำที่ตกกำลังบินขึ้นในป่าและมีรายงานของผู้สื่อข่าวที่ได้ลงพื้นที่ไปทำข่าวกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และได้พบกับชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติจาก 5 มหาวิทยาลัยที่ได้เดินทางมาสังเกตการณ์อยู่ก่อนแล้ว ยืนยันว่าคณะนายทหารตำรวจและพ่อค้าเหล่านี้จำนวนประมาณ 50 คนเดินทางมาล่าสัตว์แน่นอน และใช้เฮลิคอปเตอร์สองลำโดยเป็นลำที่ตกลำหนึ่งขนเนื้อสัตว์ที่ล่าได้จากป่าทุ่งใหญ่ อาทิ เก้งกวางและกระทิงไปแช่เย็นที่ตัวเมืองกาญจนบุรี และในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยก็มีภาพของเฮลิคอปเตอร์หมายเลข ทบ.6102 จอดอยู่กลางป่าด้วย ซึ่งเป็นลำที่ใช้ขนเนื้อสัตว์ป่ากลับกรุงเทพมหานครและตกที่อำเภอบางเลนนครปฐม จึงกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ประชาชนเชื่อว่าเฮลิปคอปเตอร์ลำนี้มาจากการไปร่วมล่าสัตว์จริง

 



 

ต่อมาจากการเปิดเผยของผู้สื่อข่าวสยามรัฐและนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติที่เข้าไปสำรวจป่าทุ่งใหญ่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ปรากฏว่ามีหลักฐานเป็นภาพถ่ายและรายงานข่าวทางหนังสือพิมพ์หลายฉบับถึงการเข้าไปตั้งแคมป์ล่าสัตว์ในป่า โดยใช้ทรัพย์สินของทางราชการกันอย่างเปิดเผย และพบว่ามีสัตว์ถูกล่าตายจำนวนมาก จนเจ้าหน้าที่ต้องเผาซากทิ้งหลังจากคณะพรานกลับไปแล้ว นอกจากนั้นนักวาดการ์ตูนการเมืองอาวุโสประยูร จรรยาวงษ์ ที่ประกาศวางปากกาไม่เขียนการ์ตูนการเมืองมากว่า 2 ปี เพราะเบื่อหน่ายการเมืองก็ทนไม่ไหวต่อกรณีการล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ จึงได้กลับมาวาดการ์ตูนการเมืองเป็นรูปกระทิงนอนตายคลุมธงชาติ ประท้วงต่อการออกมาให้สัมภาษณ์ของฝ่ายรัฐบาลว่าเฮลิคอปเตอร์ที่ตกไปราชการลับ

ต่อมาการรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ก็ถูกรัฐบาลแทรกแซงโดยสารวัตรแผนกหนังสือพิมพ์ทำหนังสือขอให้งดลงข่าวเฮลิคอปเตอร์ตกจน 3 สมาคมสื่อมวลชน คือ สมาคมหนังสือพิมพ์ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ และสมาคมนักข่าวต้องออกมาแถลงการณ์คัดค้านหนังสือดังกล่าวเพราะเป็นการลิดรอนเสรีภาพการเสนอข่าวเพื่อสาธารณประโยชน์ตามหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ ส่วนพนักงานป่าไม้และนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่ทำข่าวเรื่องนี้ก็ถูกข่มขู่คุกคามอีกด้วย

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ให้สัมภาษณ์ว่าคณะบุคคลที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกนั้นตายขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ อันเป็นราชการลับที่เปิดเผยไม่ได้ เนื้อสัตว์ที่อยู่ในเครื่องบินอาจเป็นของที่คนอื่นฝากมาก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปกป้องคนกระทำผิดของรัฐบาล เพราะผู้นำในขบวนนักล่าสัตว์ซึ่งทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 นั้นเป็นบุคคลใกล้ชิดกับรัฐบาล ซึ่งก็คือ พ.ท.สุภัทร สารสิน ลูกชายนายพจน์ สารสิน ที่เป็นนายทหารคนสนิทของพลเอกประภาส จารุเสถียร และหลายคนในคณะก็เป็นทหารตำรวจและพ่อค้าที่สนิทสนมกับคนในรัฐบาล

ต่อมาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการประชุมหารือต่อกรณีดังกล่าวขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 6 พฤษภาคม 2516 มีมติให้ศูนย์ฯดำเนินการ 8 ข้อ เช่น ให้ออกหนังสือเผยเบื้องหลังทั้งหมด จัดอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ฟ้องร้องผู้ล่าสัตว์ต่อศาล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยให้ลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่เห็นแก่หน้าผู้ใดทั้งสิ้น ซึ่งเป็นที่มาของการทำหนังสือบันทึกลับทุ่งใหญ่

ต่อมาการจัดอภิปรายต่อกรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2516 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีผู้เข้าร่วมฟังนับหมื่นคนมีการโจมตีรัฐบาลอย่างดุเดือด หลังจากนั้นในวันที่ 19 พฤษภาคม กระทรวงยุติธรรมก็ได้เชิญนักศึกษา 5 คน คือ นายอรรถ อมรเวชเมธี นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ นายทองประกอบ ศิริวานิช นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล นายภราดร กัลยาณสันติ์ และนายสมพงษ์ จิรบันดาลสุข นิสิตจุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งนายสวัสดิ์ มิตรานนท์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เห็นเหตุการณ์ไปให้ปากคำ

ดังนั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจึงร่วมกับชมรมอนุรักษ์ 4 สถาบันดังกล่าวพิมพ์หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ออกเผยแพร่ ปรากฏว่ามีผู้สนใจแย่งซื้อจน 5,000 เล่มหมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และมีการกล่าวอ้างว่าพิมพ์จำหน่ายหมดไปเป็นแสนเล่ม ขณะที่กระแสความสนใจของประชาชนกำลังจะจางหายไป ทางชมรมคนรุ่นใหม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้ออกหนังสือชื่อ “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ” ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานในมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้นและวิจารณ์การตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในเมืองไทยทั้งในรูปของบทความบทวิจารณ์และบทกวี ในหน้า 6 ของหนังสือเนื่องด้วยเหตุขัดข้องทางต้นฉบับทำให้เกิดพื้นที่เหลือเป็นหน้าว่างจะคิดหาเนื้อหาอะไรมาลงก็ไม่ทันเพราะผ่านกระบวนการจัดพิมพ์ไปหมดแล้ว สุเมธ สุวิทยะเสถียร ในฐานะผู้ผลิตจึงตัดสินใจด้วยอารมณ์ขันผนวกเอากรณีต่ออายุจอมพลถนอมกับเหตุการณ์ล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่เข้าด้วยกันเป็นข้อความลอยๆ 4 บรรทัดว่า

สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ
มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี
เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอก
เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจ

จากข้อความในหนังสือดังกล่าวจึงทำให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดีสั่งลบชื่อนักศึกษาชมรมคนรุ่นใหม่ที่ทำหนังสือดังกล่าว 9 คน ประกอบด้วย แสง รุ่งนิรันดรกุล วันชัย แซ่เตียว บุญส่ง ชเลธร วิสา คัญทัพ สมพงษ์ สระกวี สุเมธ สุวิทยะเสถียร ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ประเดิม ดำรงเจริญ และกุลปราณี เมฆศรีสวัสดิ์ ตามหนังสือมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 272/2516 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2516

ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อนักศึกษาทั้งในมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสถาบันการศึกษาอื่นๆ รวมทั้งสื่อมวลชน จนกระทั่งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เป็นผู้ดำเนินการประท้วงที่หน้าทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งรัฐบาลเพิกเฉย จึงย้ายไปประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศปิดมหาวิทยาลัยก็ยิ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนมาก จนในที่สุดมีการยกเลิกการลบชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คน และให้อธิการบดีพิจารณาตัวเองลาออก รวมทั้งมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนที่รัฐบาลไม่รับปากทางผู้ดำเนินการชุมนุมคือนายธีรยุทธ บุญมี เลขาศูนย์ฯ ได้รับปากว่าจะเร่งรัดให้รัฐบาลเร่งร่างรัฐธรรมนูญอันเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา อันเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในที่สุด

ข้อมูลส่วนหนึ่งจากบทความ “เฮลิคอปเตอร์เบลล์ตกที่จังหวัดนครปฐม” โดย ชาติชาย มุกสง เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า

 



ภาพจากหนังสือ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่

 


ขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์ , thaijobsgov
Different Themes
Written by Lovely

Aenean quis feugiat elit. Quisque ultricies sollicitudin ante ut venenatis. Nulla dapibus placerat faucibus. Aenean quis leo non neque ultrices scelerisque. Nullam nec vulputate velit. Etiam fermentum turpis at magna tristique interdum.

0 ความคิดเห็น