Open top menu
วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

[บทความ] ว่าด้วยระบบการเล่น 3-5-2 นี่ใครเป็นต้นแบบ


3-5-2 เป็นระบบที่ประยุกต์มาจาก 5-3-2 ครับ


ไอ้ 5-3-2 เนี่ย จริงๆมันเหมือนระบบเฉพาะกิจ เท่าที่ผมจำความได้ มันมากับอิตาลีปี 1982 ที่อุดจนได้แชมป์โลกนั่นแหละ

ระบบของอิตาลี จริงๆก็ 4-4-2 แต่เวลานำ หรือคิดจะอุด จะมีการเปลี่ยนตัว หรือเปลี่ยนระบบมาเป็น 5-3-2 โดยมีกองหลังตัวนึง ลงไปยืนต่ำกว่าชาวบ้าน คอยเก็บกวาด (sweep) บอลที่ทะลักมาจากคู่เซนเตอร์ที่เข้าไปชนกับกองหน้า


มันดูแปลกว่าระบบของเยอรมัน เพราะตัวสุดท้ายของเยอรมัน (libero – แปลตรงตัวคือ ผู้มีอิสระ) เช่น ฟร้านซ์ เบ็คเค่นบาวร์ จะเล่นทั้งรุกและรับตามสถานการณ์และการอ่านเกมส์ของตัวเอง แต่ของอิตาลี เราแทบไม่เห็น เกตาโน่ ชีแร หรือ ฟรังโก้ บาเรซี่ (ในทีมชาตินะ ไม่รวมเล่นที่มิลาน) ขึ้นไปทำอะไรแบบนั้นเลย


อิตาลี เอามาใช้เป็นบางครั้งบางเวลา แต่เยอรมันตะวันตก ในยูโร 1988 นี่แหละ ที่ผมเห็นชัด (บอลโลก 1986 ก็เหมือนจะใช้ แต่สลับกับ 4-4-2 มั้ง ไม่แน่ใจ) เพราะปีนั้น เยอรมันตะวันตกมีวิงแบ็คสองข้างที่เด่นในเกมส์รุก แถมฟิตโคตรๆ คือ อันเดรียส เบรห์เม่ กับ สเตฟาน รอยเตอร์ (คนแรกได้ชื่อว่ารถถังเลียวพาร์ด คนหลังสมญาไอ้เทอร์โบ คิดดูว่าฟิตและถึกขนาดไหน) แต่ตัวลิเบโร่ของเยอรมันตะวันตกยุคนั้นยังไม่เด่นในเกมส์รุก (เคล้าส์ เอาเก้นทาเลอร์ หรือไอ้บ้านนอก…ฟังชื่อก็รู้ว่าแกมาแนวโฉ่งฉ่างแต่ทรงพลัง) ทำให้การสอดจากลิเบโร่ตรงกลางไม่ค่อยมี จะกลายเป็นเน้นขึ้นเกมส์รุกที่วิงแบ็คมากกว่า … พอขึ้นมากๆเข้า และด้วยความที่เยอรมันตะวันตกเป็นเจ้าภาพ ทำให้เจอใครก็ต้องครองบอลบุกมากกว่าตั้งรับ สุดท้ายไอ้แบ็คสองข้าง มันก็ขึ้นไปอยู่เกินครึ่งสนามซะมากกว่าอยู่ในแนวแบ็คโฟร์


ทำให้ 5-3-2 เปลี่ยนสภาพเป็น 3-5-2 โดยปริยาย


จากนั้นในเยอรมัน ก็เปลี่ยนมาเป็นแบบนี้เกือบหมด (บุนเดสลีก้า เน้นแบบแผนที่ไม่แตกแยก ทีมชาติมาแนวไหน สโมสรก็มักจะนำแนวคิดไปต่อยอด เพื่อให้นักเตะไม่ต้องปรับตัวมากเวลามาเล่นทีมชาติ ไม่เหมือนอังกฤษ ที่พวกลิเวอร์พูลยุค 80-90′ เล่นกันไม่ออกเลย เพราะอยู่สโมสร เคาะบอลกันแบบติกิตากะ แต่ทีมชาติเล่นโยนยาว)


ในอิตาลี เนวิโอ้ สกาล่า ปัดฝุ่น 3-5-2 ขึ้นมาใหม่กับทีมน้องใหม่อย่างปาร์ม่า เพราะทีมพลังหนุ่มทีมนี้มีแบ็คสองข้างที่เล่น วิงแบ็ค ได้ดี

อันโตนิโอ เบนาร์ริโว่ พลังฟิตเต็มถึง (รวมทั้งพลังในการโวย) ในขณะที่ฝั่งซ้าย อัลแบร์โต้ ดิเคียร่า แม้ไม่เร็ว ไม่ฟิตเท่า แต่เปิดบอลได้คมมากๆ ทำให้ปาร์ม่าเป็นทีมที่มีเกมส์ริมเส้นที่ดีที่สุดในกัลโช่ยุคนั้น (ตรงกลางสนาม คริปป้า ปิน และเซนซินี่ (ปีต่อมาลงไปเล่นหลัง และซื้อดิโน่ บักโจ้ มาแทน)ไล่เตะคนอย่างเดียว ไม่เน้นเกมส์รุก)


ซึ่งมีจุดที่น่าสนใจอยู่นิดหน่อย คือ วิงแบ็คสำรอง โรแบร์โต้ มุซซี่ เล่นสโมสรไม่เด่นมาก แต่ในทีมชาติ ช่วง 1993- บอลโลก 1994 เล่นได้เด่นและยึดตัวจริงทางฝั่งขวาได้สนิท เบียดเบนาร์ริโว่ ออกไปได้ (ฝั่งซ้าย เปาโล มัลดินี่ แกจอง) หรือถ้าโดนเอาไปเล่นด้านซ้าย มุซซี่ ก็เป็นตัวเลือกก่อน ดิเคียร่า อยู่ดี… อันนี้คือด้วยระบบและทัศนคติในการเล่นที่แตกต่าง ทีมชาติอิตาลีเน้นการขึ้นบอลตรงกลางด้วย ทั้งโรบี้ บักโจ้ หรือ อัลแบร์ดินี่ เล่นเกมส์รุกได้ดี ทำให้บทบาทวิงแบ็คของ อาร์ริโก้ ซาคคี่ ต้องเด่นรับมากกว่ารุก


และในปีต่อมา ยูเว่ของลิปปี้ ก็แปลงระบบมาเป็น 3-5-2 ด้วย… โรเบิร์ต ยาร์นี่ แบ็คซ้ายพลังม้าจากโครเอเชียเด่นมาก ต่อมาทางขวา ยังเอาอังเจโล่ ดิลิวิโอ้ จากปีกขวาธรรมชาติ มาเป็นวิงแบ็คขวา


ส่วนของเยอรมัน พวกปีกจรวด คริสเตียน ซีเก้ หรือ อเล็กซานเดอร์ ซิคเลอร์ ก็มาเล่นวิงแบ็คกันหมด ทำให้ทัศนคติเรื่องวิงแบ็ค กลายเป็น “นักเตะจอมฟิต ที่วิ่งขึ้นสิ่งลงได้ไม่มีหมด รวมทั้งมีความเร็วและการเปิดบอลที่แม่นยำ” มากกว่า นักเตะที่ปิดเกมส์ริมเส้นของคู่แข่ง


พอไปเน้นที่เกมส์รุก ตำแหน่งหลังแบ็คก็กลายเป็นพื้นที่บ่อน้ำมันไปซะแล้ว แม้ว่า 3-5-2 จะครองโลกอยู่นานตั้งแต่ 1990-2000 แต่ก็มีหลายช่วงที่ระบบนี้โดนท้าทายและแก้ลำ แต่ที่ดับสนิทจริงๆ ก็หลังการเกิดมาของ 4-5-1 (หรือ 4-2-3-1) ที่เป็นแฟชั่นสุดฮิตในลาลีก้า

ทีมในสเปน อย่างบาเลนเซีย ใช้ระบบนี้ได้ทรงพลังมาก ปีกซ้ายขวาทั้ง ฮัวกิน ซานเชส กับ บิเซนเต้ ชอบไปหลบอยู่หลังแบ็ค ใช้การโต้กลับ 2-3 จังหวะ ลากบอลไปและจ่ายให้เคลาดิโอ โลเปซ ปิดฉาก อันนี้เราเห็นกันบ่อยๆ


หลังๆ ผลงานของเยอรมันก็แย่ทั้งทีมชาติและสโมสร ทีมชาติเจอพวกสายเคาน์เตอร์อัดไปหลายครั้ง (บัลแกเรีย 1994 โครเอเชีย 1998 โรมาเนีย 2000) พวกอิตาลีเอง ก็กลับมาใช้ 4-4-2 ไม่ก็พัฒนาระบบแปลกๆ 4-3-1-2 / 4-3-2-1 มาแทน ซึ่งเป็นการเน้นไปที่กองหลัง 4 ตัว


ทำไมหลัง 4 ???? ก็เพราะ 3-5-2 กลายเป็นหลังสามคน ซึ่งใช้ไม่ได้กับบอลที่เร็วและแม่นยำในช่วงหลังปี 2000

โอเค อาจจะมีบ้างที่ 3-5-2 กลับใช้ อย่าง เดล บอสเก้ พารีล มาดริด คว้าแชมป์ UCL ปีนั้น เอา อีบัน เอลเกร่า มาเล่นตัวกวาด หลังคู่เซนเตอร์ แต่นั่นผมมองว่าคือ 5-3-2 เฉพาะกิจมากกว่า คือกองหลัง ยืนพื้นฐานจากแบ็คโฟร์ และใส่สวีปเปอร์ไปอีกคนเพื่อเน้นความแน่น เหมือนที่พวกอิตาลีทำกัน


ก็เพิ่งเห็นระบบนี้กลับมาในปี 2012 นี่แหละ ที่คอนเต้ นำมาใช้กับยูเว่ และเป็นระบบวิงแบ็คด้วย ทั้ง ลิคสไตเนอร์ กับ ควาดโว่ ที่เล่นเกมส์รุกได้ดีกว่ารับ (และเช่นเคย วิดัล ปีร์โล่ หรือ ป็อกบา แม้จะทักษะสูง แต่ทรงในการยืน และสปีดในการทะลวง ทั้งสามคนไม่ใช่กองกลางที่เล่นรุกเต็มตัว ทำให้บอลบุกของยูเว่ ออกริมเส้นเยอะอยู่)


มา WC2014 คนมองว่าฟาน กัล คืนชีพให้ระบบนี้ แต่ถ้าตามกันลึกๆ เม็กซิโก คอสตาริก้า กับ ชิลี เล่นกองหลัง 3 หรือ 5 ตัว มาตั้งแต่รอบคัดเลือกแล้ว โดยสามทีมนี้ใช้คอนเซปต์ที่ดีคือวิงแบ็คจอมฟิต ที่อัดแน่นในโซนตัวเอง และขึ้นสูงโจมดีเมื่อเล่นสวนกลับ ทำให้ไม่เกิดปัญหาช่องว่างหลังแบ็ค (นานๆขึ้นที ปกติอยู่ในไลน์กองหลัง) ต่างกับ 3-5-2 ของฮอลแลนด์ ที่ดูทรงไม่สวยเลย ยิ่งนัดเจอเม็กซิโก ยิ่งชัดใหญ่ โดนสวนกลับมาในพื้นที่อันตรายตรงนี้ตลอด แต่ฮอลแลนด์เอาตัวรอดไปได้ ด้วยทักษะของนักเตะที่สูงกว่าทีมอื่นๆครับ ไม่ใช่เพราะระบบ 3-5-2

(เจาะให้ลึกอีกนิด 3-5-2 ของฮอลแลนด์เฉิดฉายมากสองนัด คือ นัดยำสเปน กับบราซิล และนี่คือสองนัด ที่ฮอลแลนด์เริ่มต้นด้วยมาด ‘ทีมรอง’ และสามารถใช้เกมส์สวนกลับได้ ในขณะที่หากเริ่มด้วยทรงเป็นต่อ ฮอลแลนด์จะดูติดๆขัดๆทุกนัด)


และ talk of the town ตอนนี้คือ 3-5-2 ของแมนฯยูฯ

ก็เหมือนฮอลแลนด์ล่ะครับ แมนฯยูฯ เจอแต่คู่แข่งที่เป็นรองและลงไปปิดพื้นที่ พร้อมสวนกลับที่พื้นที่หลังแบ็ค

และด้วยวิงแบ็คของแมนฯยูฯ อ่อนเกมส์รับ และยังงงๆกับระบบนี้อยู่ ก็เลยเละอย่างที่เห็น

ลองให้แมนฯยูฯ เจอพวกบอลคอนโทรล อย่าง อาร์เซน่อล หรือ แมนฯซิตีฯ ทรงบอลมันจะออกมาอีกแบบแน่ๆครับ


บทความโดยคุณ Ahura@pantip.com



[บทความ] ว่าด้วยระบบการเล่น 3-5-2 นี่ใครเป็นต้นแบบ
Tagged
Different Themes
Written by Lovely

Aenean quis feugiat elit. Quisque ultricies sollicitudin ante ut venenatis. Nulla dapibus placerat faucibus. Aenean quis leo non neque ultrices scelerisque. Nullam nec vulputate velit. Etiam fermentum turpis at magna tristique interdum.

0 ความคิดเห็น