Open top menu
วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

 ประเทศ อังกฤษ หรืออเมริกา เป็นประเทศที่คนไทยนิยมเลือกไปเรียนต่อมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งล่าสุดคุณ สมาชิกหมายเลข 1346417  ได้ออกมาโพสต์สอบถามว่าทำไม คนไทยไม่นิยมไปเรียนฝรั่งเศส เยอรมันที่ค่าเทอมแค่ปีนึง 9,000 บาทไทยแต่กลับไปเรียน US UKที่ค่าเทอมปีนึงเกือบล้าน โดยระบุรายละเอียดว่า


สงสัย เพราะประเทศทั้งหมดที่ว่ามานี้ค่าครองชีพก็พอๆ กันอยู่แล้ว

นี่เพิ่งคุยกะน้องที่จบนิติ มธ. มา (เค้าเรียนม.ปลายศิลป์ ฝรั่งเศส) เค้าเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส เค้าบอกไปเรียนเมืองห่างจากปารีสไม่มาก ค่าเทอมไม่ถึงหมื่นบาทไทย ปีเดียวก็จบแล้ว เค้าไปเรียนปีนึงหมดเงินไปแค่ราว 300,000-400,000 บาท (เค้าบอกค่ากินอยู่ราวเดือนละ 30,000 บาทไทย แถมรัฐบาลฝรั่งเศสช่วยค่าหอด้วย) ถูกกว่าหรือพอๆกะเรียนโทบางม.ในไทยอีก

ทำไมคนไทยไม่ค่อยไปกัน ทั้งที่ฝรั่งเศส เยอรมันก็ศิวิไลซ์พอๆกะอังกิด เมกัน

พอไปดูค่าเทอมอังกิด เมกา ปีนึง 700,000-1,000,000

แค่ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสหรือเยอรมันเพิ่มในไทยก่อน พอได้ระดับที่สมัครเรียนโทได้ ก็ไปได้แล้วหนิ

แถมคุณได้ภาษาที่สามเพิ่ม ถ้าไปเรียนอังกิด เมกาก็ได้แค่ภาษาอังกฤษซึ่งใครๆก็พูดได้


ความคิดเห็นจากคุณ pHaiyLueNa ระบุว่า

จากประสบการณ์ส่วนตัว ภาษา คือเหตุผลหลักที่ทำให้คนไม่กล้าที่จะมาเรียน ทั้ง ๆ ที่ค่าเทอมถูก

เวลามีคนมาขอปรึกษาเรื่องเรียนต่อที่เยอรมัน เราจะถามก่อนเลยว่าเป้าหมายคืออะไร?

- ต้องการเรียนอย่างเดียว แล้วกลับไปทำงานที่ไทย >>> แนะนำให้เรียนภาค Inter ภาษาอังกฤษ จบภายใน 1-2 ปี

- ต้องการทำงาน หาประสบการณ์หลังเรียนจบ >>> กัดฟันเรียนเยอรมันเลยค่ะ

หากกัดฟันเรียนเป็นเยอรมันได้ หลังจากเรียนจบนักเรียนต่างชาติ ไม่ว่าจะเรียน ภาค Inter หรือปกติ จะได้วีซ่าหางาน 18 เดือน (กฎใหม่ของนักเรียนต่างชาติ ในปี 2012 ของ Niedersachsen) ซึ่งหากได้ภาษาเยอรมันก็จะหางานได้ง่ายกว่าการที่เราได้ภาษาอังกฤษอย่างเดียว

เราเรียนภาษาเยอรมันที่เกอเธ่จนถึง B2 ค่ะ ประมาณ 6 เดือนได้ที่เรียนคอร์ส intensive ก่อนหน้านั้น ก็เรียนคอร์สช่วงเสาร์ อาทิตย์ เพราะยังทำงานที่ Ernst & Young อยู่หลังเรียนจบ ระหว่างนี้ เราก็จ้างน้องจากคณะอักษร ฯ เอกเยอรมันให้มาสอนตัวต่อตัวด้วย

พอมาถึงที่เยอรมันก็ลงเรียนกับที่มหาวิทยาลัย สำหรับนักเรียน Erasmus ก็ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเติมเลย เพราะไม่ได้ไปลงเรียนกับสถาบันภาษาที่ไหน เพียงแต่ต้องเรียนภาษาคู่ไปกับ MBA ทำให้ผลสอบช่วงเทอมแรก ตกระนาว หลังจากนั้น ก็สอบภาษาจนได้ C1 ก็เอาผลไปยื่นให้ทางมหาลัยย้อนหลัง (ตอนขอวีซ่าเรียน MBA เรายื่น B2 ไป และให้ทางมหาลัยยืนยันว่าเราจะสอบ C1 ให้ได้ใน semester แรก)

เล่าประสบการณ์

มาเรียน MBA for Sustainability Management ที่นี่ตั้งแต่ 2007 เป็นภาษาเยอรมัน เป็นคนไทยคนเดียว และคนต่างชาติ 3 คนจากทั้งรุ่น 50 คน ที่ประกอบด้วย คนเยอรมัน คนสวิส และออสเตรีย

ค่าใช้จ่าย:

1. ค่าเทอมของทั้งโปรแกรมคือ 10,000 € ทยอยจ่ายตามจำนวนรายวิชาที่ลงเรียน

2. ค่าเทอมแต่ละ semester ประมาณ 125 - 200 €

3. ที่พักอาศัย 200 - 300 € ต่อเดือน

4. ประกันสุขภาพ 80 - 100 € ต่อเดือน

5. ค่าอินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ วิทยุ ต้องจ่ายให้รัฐทุกเดือน (GEZ - Rundfunk) 17.98 € ต่อเดือน

6. ค่ากิน ท่องเที่ยว อื่น ๆ 250 - 400 € ต่อเดือน

ใช้เวลา 4 ปีในการเรียน MBA จากนั้นก็เข้าโหมดหางานทำ ช่วง 2-3 เดือนแรก ก็หนีเที่ยวก่อน จากนั้น ก็ร่อนใบสมัครงาน รวม ๆ แล้วเกือบ 200 ตำแหน่ง เรียกสัมภาษณ์ 5 ที่ มีที่เดียวที่สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ (และก็ทำไม่ได้ตามกฎหมายของที่นี่ เพราะเค้าให้เซ็นสัญญา freelance เราต้องทำแบบ full time เท่านั้น) อีก 4 ที่ สัมภาษณ์เยอรมันหมด และได้งานจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ในเดือนที่ 13 ของวีซ่าหางาน 18 เดือน ตำแหน่ง consultant ด้าน sustainability/CSR management กับบริษัทที่ปรึกษาเล็ก ๆ ที่ Stuttgart (ตอนนี้กำลังหางาน/หาทุนเรียนเอก) เป็นคนต่างชาติคนเดียว (อีกแล้ว) แต่เพื่อนร่วมงานคนเยอรมันดีมาก คนนึงเคยไปอยู่ไทยมาระยะสั้น ๆ เพราะพ่อแม่เค้าทำงานที่ไทยอยู่ 6 ปี สวัสดิการก็ได้ตามกฎหมายที่นี่ เท่าเทียมกับคนเยอรมัน ซึ่งในการทำงานใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังสามารถรับเป็นล่าม เซ็นสัญญาแบบ freelance ได้ โดยได้ค่าจ้างรายวัน สำหรับคนที่ไม่มีใบประกาศและยังไม่มีประสบการณ์ ได้ค่าจ้าง 350 € แต่หากมีทั้งสองอย่างก็ประมาณ 1,000 € ค่ะ

หากท่านใดสนใจการเรียน การใช้ชีวิต และการทำงานในเยอรมนี อย่างละเอียด

เข้าไปที่

๗ ปี ใต้ปีกอินทรีเหล็ก http://pantip.com/topic/32254502

หรือ https://www.facebook.com/sevenyearsingermany

ยกตัวอย่าง ความได้เปรียบของภาษาเยอรมัน

เท่าที่เห็น บริษัทที่ใช้ภาษาเยอรมัน (เยอรมนี สวิส และออสเตรีย) มีอยู่เยอะแยะในไทย เช่น

1. ยานยนต์ Benz, Porsche, BMW, Volkswagen

2. เคมี & ยา BASF, Bayer, Merck

3. อุปกรณ์กีฬา adidas

4. เครื่องอุปโภค Beiersdorf, Henkel ที่ผลิตยาสระผม Schwarzkopf แนว ๆ เดียวกับ Unilever แล้วก็ Nestle ของสวิส

5. ธนาคาร Deutsche Bank

6. การบิน Lufthansa

7. Logistic & transport ก็ DHL

8. คอมพิวเตอร์ SAP

9. อุตสาหกรรมหนัก Siemens, ThyssenKrupp ที่เห็นบ่อย ๆ ก็พวกลิฟท์ตามตึกต่าง ๆ

นอกจากนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่พูดเยอรมัน ก็ค่อนข้างใหญ่ และเป็นประเทศที่เงินหนาทั้งนั้น สวิส เยอรมัน ออสเตรีย เราเองเคยไปภูเก็ต เจอถนนเส้นหนึ่งที่มี "ป้ายหมอฟัน"​ เขียนเป็นภาษาเยอรมัน เมนูในร้านอาหารส่วนใหญ่ก็มีเป็นภาษาเยอรมัน บางแห่งมีแม้กระทั่ง ภาษาสวีดิช ที่ใช้อยู่เพียงในประเทศสวีเดนที่มีประชากรไม่มาก นอกจากนี้ เราเคยพาเพื่อนคนเยอรมันไปเที่ยววัดพระแก้ว แล้วก็อธิบายให้เค้าฟังเป็นภาษาเยอรมัน ก็มีนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มนึงเข้ามาทัก เพราะคิดว่าเราเป็นไกด์อาชีพ และก็แจมเที่ยวพร้อมพวกเราเฉยเลย

สรุป ยังไงได้ภาษาที่สามเพิ่มก็เป็น asset ที่ดีนะคะ ถึงแม้จะอยู่ที่เมืองไทยก็ตาม อาจจะลำบากในช่วงแรกที่เริ่มเรียน แต่ก็ใช้หากินได้ตลอดชีวิต (พวกล่ามหรือนักแปลแก่แล้วก็ทำได้ แถมได้ค่าจ้างสูงขึ้นตามชั่วโมงบินที่มากขึ้นค่ะ)

ทุนการศึกษาของเยอรมนีและประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ดูได้ที่นี่ค่ะ จะคอยอัพเดตข้อมูลใหม่ ๆ เรื่อย ๆ ค่ะ


จากความคิดเห็นของคุณ สมาชิกหมายเลข 808683  

สวัสดีครับ ขอแชร์ประสบการณ์เลยนะครับ

ค่าเทอม

ผมจบปริญญาโท 3 ใบ จากฝรั่งเศส ใบแรกสาขาการทูต จ่ายไป 400 กว่ายูโร (รายปี) รวมค่าประกันสุขภาพแล้ว ใบที่สองสาขาเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรอินเตอร์ อังกฤษล้วนๆ ก็จ่ายไป 400 ยูโรรวมประกันฯ ใบที่สามการท่องเที่ยว จ่ายไปราคาใกล้เคียงกับสองใบก่อนหน้านี้

ภาษาอังกฤษ

อันนี้นานาจิตตัง คะแนนโทอิคของผมอยู่ที่ 965 เมื่อตอนสมัยเรียน  ปัจจุบัน 985 ไม่เคยไปเรียนต่อประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และไม่เคยเรียนพิเศษเพิ่ม เน้นพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าของภาษา แต่โชคดีที่ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนหลักสูตรอินเตอร์ของมหาวิทยาลัยรัฐ ภาคอินเตอร์ที่ผมเรียนเขารับ TOEIC อยู่ที่ 900 ขึ้นไป  ส่วน IELTS จะคัด 7.0 ขึ้นไปครับ ที่เลือกสอบ TOEIC เพราะจะได้ใช้ในการสมัครงานได้ด้วย

การเรียนในมหาวิทยาลัยฝรั่งเศส

บอกตามตรงว่ายากมากๆในช่วงแรก (หลักสูตรการทูต) เพราะศาสตราจารย์หลายๆท่าน โดยเฉพาะวิชากฎหมาย รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ นั้น ไม่เขียนบนกระดานเลย ชีตที่ให้ก็เป็นแค่เอกสารประกอบ ราวๆ100 กว่าหน้า เพื่อนๆชาวฝรั่งเศสยังร้องโอย จากนั้นก็ให้รายการหนังสือ กว่า5รายการไปค้นคว้าเพิ่มเติม บอกตามตรงว่าช่วงแรกๆน้ำตาตกใน ไม่ใช่แค่ภาษาฝรั่งเศสและเนื้อหาอันเปี่ยมล้นเท่านั้น หลักสูตรการทูตนี้มีภาษาสเปนด้านการระหว่างประเทศ (คือไม่เคยมีพื้นฐานมาก่อนเลยยยย) ก็เลยต้องเข้าห้องสมุดทุกวัน แต่โชคดีที่มีนักเรียนแลกเปลี่ยนจากสเปนและค่อนข้างสนิทกันคอยช่วยสนทนาด้วย เลยไม่มีปัญหา นอกจากนี้ยังมีภาษาที่4 บังคับเลือก ระหว่างรัสเซีย โปรตุเกส และเยอรมัน เลยเลือกเยอรมันไป อ้อ ลืมบอกไปว่า. หลักสูตรนี้รับแค่ 24 ที่นั่งครับ  นักเรียน กว่า 75% เป็นชาวฝรั่งเศส ที่เหลือก็มี โปรตุเกส  สเปน  รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น แล้วก็ผม ไทย

ใบที่สองค่อยยังชั่วครับ เรียนเป็นอังกฤษล้วนๆ ง่ายหน่อย หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ภาคอินเตอร์ รับแค่ 14 ที่นั่ง มีอเมริกันโผล่มา1 คน แคนาเดียน 1 คน ที่เหลือมาจาก ฝรั่งเศส 50% นอกนั้น รัสเซีย เม็กซิโก ญี่ปุ่น  จีน และก็ผมไทย อาจารย์มาจากหลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาทิ  จาก ไอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์  เนเธอร์แลนด์  อิตาลี และโปรตุเกส

ส่วนใบที่สาม แม้จะอยู่ฝรั่งเศสมากว่า 4 ปีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่าจะต้องขวนขวายอ่านฝรั่งเศสอยู่ตลอกเวลา เพื่อให้การสื่อสารดีขึ้นเรื่อยๆ ใบที่สามนี้มีนักเรียนแค่ 7 คน แน่นอนครับ มันคือมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของฝรั่งเศส เลยรับค่อนข้างน้อย ที่นี่ยากมากครับ คะแนนตัดโหดมาก ข้อสอบก็โหดสุดๆ บอกได้แค่จบแค่ 3 คน โชคดีที่ผมเป็นหนึ่งในนั้น เพื่อนฝรั่งเศสหลายคนถึงกับร้องไห้

เปรียบเทียบระบบการให้คะแนน

ผลการเรียนที่ออกมาคือเกรด0 ถึงเกรด 20 ต่างจากบ้านเราที่วัดจาก 0 ถึง 4

เกรดเฉลี่ย 18-20 นั้น ลืมไปได้เลยครับ เพราะต้องเทพจริงๆ ว่าง่ายๆ เจ๋งสุดๆของมหาวิทยาลัยยังได้แค่ 16 เศษๆ เพื่อนผม 15 เศษๆ ก็เข้า Harvard ได้แล้ว (มันมีตารางเทียบเกรดฝรั่งเศสกับเกรดระบบอเมริกันครับ รู้สึกว่า 14 ของฝรั่งเศส คือ 4.00ครับ)

จากที่แชร์ด้านบนนั้น จะเห็นได้ว่า การเรียนในประเทศฝรั่งเศสนั้นให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด หลายๆคนอาจมองว่าเรียนที่ฝรั่งเศสจะไม่ได้ภาษาอังกฤษ แต่อันที่จริงมันขึ้นอยู่กับคนครับ เราเรียนภาษาอังกฤษกันมาตั้งแต่เด็ก ขาดเพียงแค่การทบทวน การฝึก แค่หาเพื่อนที่เป็นเจ้าของภาษาก็พอ สำหรับผมแล้วการมาเรียนที่นี่ทำให้ผมรู้ภาษาที่สาม สี่ และห้า นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นเลิศ และยังได้ท่องเที่ยวไปในหลายๆประเทศ  การสื่อสารภาษาถิ่นได้ จะทำให้เข้าถึงและเข้าใจคนในถิ่นนั้นๆมากขึ้น สำหรับผมการเรียนรู้ภาษาถิ่นมันคือการแสดงความเคารพ การให้ความสนใจ การเข้าถึงวัฒนธรรมนั้นๆ โลกใบนี้ไม่ได้มีแค่ภาษาอังกฤษ เพราะยังมีคนอีกหลายคนที่สื่อสารอังกฤษไม่ได้

ยุโรป ยังมีมหาวิทยาลัยดีๆอีกเยอะแยะ ซึ่งดูแล้วไม่แพ้อังกฤษกับอเมริกา แต่ต่างกันที่การใช้อะไรมาวัด และใครเป็นคนวัด ก็เท่านั้น ถ้าให้เลือเรียนต่อปริญญาเอก ผมก็จะเรียนต่อในยุโรป อาจเป็นในฝรั่งเศส สเปน หรือไไม่ก็เยอรมนี

นานาจิตตังนะครับ แล้วแต่ใครจะคิด ที่เขียนมาทั้งหมด เป็นการแชร์ประสบการณ์และแสดงความคิดเห็น ไม่อยากให้คนไทยมองอะไรๆก็เป็นอเมริกาไปทั้งหมด ยังมีอะไรมากกว่านั้น จ่ายน้อยกว่า ได้เรียนรู้อะไรมากกว่า แต่แน่นอนครับ ต้องพยายามมากกว่า เพราะข้อจำกัดทางภาษา และที่นั่งในมหาวิทยาลัยของรัฐมีค่อนข้างจำกัด เพราะรัฐช่วยครับ เขาจึงมีการเปรียบเปรยว่า การสอบติดมหาวิทยาลัยของรัฐในฝรั่งเศสได้ คุณก็คือนักเรียนทุนคนหนึ่งนั่นเองครับ

ปล เขียนในไอแพด ทรมานมากๆ กว่าจะเขียนจบ

ปล2 ลองเก็บไว้พิจารณานะครับ ไม่ต้องจ่ายแพงๆก็เป็นนักเรียนนอกได้ครับ สมัยนี้เป็นนักเรียนนอกไม่จำเป็นต้องรวยล้นฟ้าหรือว่าตระกูลดังแล้วครับ เอาใจช่วยทุกๆคนนะครับ ไปให้ถึงฝันครับ

ปล3 แต่จะเรียนที่ไหนก็เหมือนๆกันครับ ขึ้นอยู่กับผู้เรียน เรียนในไทยเก่งๆได้งานดีๆก็เยอะ แต่การเรียนในต่างประเทศมันดีตรงที่ได้ประสบการณ์และได้ท่องเที่ยวในเวลาเดียวกัน เอาเป็นว่าเรียนที่ไหนก็ได้ แต่อย่าถึงกับต้องให้เป็นหนี้เป็นสินเลยนะครับ จะคิดมากเปล่าๆ

ปล4 หากสนใจเรียนต่อฝรั่งเศสลองปรึกษา Campus France ดูนะครับ พนักงานน่ารักครับ ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ดุ

    จริงๆแล้วทางเลือกก็แล้วแต่พิจารณา ของคนแต่ละคน ถ้าใครกำลังมองหาที่เรียนต่อก็ลองอ่านและศึกษาให้ละเอียดก่อนตัดสินใจได้นะคะ

อ่านเพิ่มเติม : > pantip.com 

ขอขอบคุณที่มาจาก : Kaijeaw.com </a
Different Themes
Written by Lovely

Aenean quis feugiat elit. Quisque ultricies sollicitudin ante ut venenatis. Nulla dapibus placerat faucibus. Aenean quis leo non neque ultrices scelerisque. Nullam nec vulputate velit. Etiam fermentum turpis at magna tristique interdum.

0 ความคิดเห็น